สำนักข่าวอามาน( Aman News Agency) รายงานข่าว ECOtive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล ร่วมแก้จนชาวปัตตานีด้วยนวัตกรรม

โพสเมื่อ 2022-01-31 09:41:49 | 2 years ago

ECOtive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล ร่วมแก้จนชาวปัตตานีด้วยนวัตกรรม (1)
ทีมข่าวเศรษฐกิจรายงาน
ดร.ศริยา บิลแสละ หัวหน้า “โครงการวิจัยและพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์เพื่อการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยสู่โมเดลพึ่งตนเองแก้จนจังหวัดปัตตานี” หรือ ECOtive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างผู้ประกอบการรายย่อยสู่โมเดลพึ่งพาตนเอง และยกระดับทางเศรษฐกิจของคนในจังหวัดปัตตานีให้ดียิ่งขึ้น ณ ห้องประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ ชั้น 3 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้ทรัพยากรจากทางหน่วยงานเพื่อมาช่วยกันพัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมร่วมกัน และออกแบบระบบนิเวศสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อทำให้ความยากจนในจังหวัดปัตตานีลดลง
“ปัจจัยที่สำคัญของการสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการของจังหวัดปัตตานีคือ การมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือที่มาจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน โดยองค์กรที่มาร่วมประชุมและเป็นภาคีความร่วมมือ ได้แก่ พาณิชย์จังหวัดปัตตานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เทศบาลเมืองปัตตานี องค์การบริหารส่วนตำบลตะบิ้ง องค์การบริหารส่วนตำบลบานา โรงแรมปาร์คอินทาวน์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล DEPA สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปัตตานี Patani Artspace มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ Digital 4 Peace ห้างหุ้นส่วนสามัญฮณาฮาลาล และธุรกิจเครือเดอนารา” ดร.ศริยา กล่าว
โครงงานวิจัยดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ(สอช.) ร่วมกับม.อ.ปัตตานี เป็นงานวิจัยเพื่อการพัฒนาและทดลองเชิงนโยบายเพื่อออกแบบกลไกการพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจฐานราก
ดร.ศริยา ยังกล่าวอีกว่าปัตตานีมีประชากรจำนวน 153,466 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 635,671คน มีภาคเกษตรและการผลิต 46 เปอร์เซ็นต์ การขายส่งขายปลีก โรงแรม การผลิต การก่อสร้าง รับราชการ มีเยาวชนขาดการศึกษาไปเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ การหลุดพ้นจากความยากจนคือ คนในพื้นที่ต้องมีการศึกษา และมีเศรษฐกิจ เงินหมุนเวียนที่ดี
“ปัญหาความยากจนของปัตตานีติดอันดับต้นๆ ของไทยทุกปี เราอยากแก้จน เมื่อไม่เรียนหนังสือก็ต้องประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างระบบ ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัล ใช้การเก็บข้อมูลในพื้นที่ นำไปวิเคราะห์ เรามีองค์ความรู้ในเรื่องของการออกแบบ ใช้โมเดลความเจริญรุ่งเรืองเริ่มหยั่งรากจากรัฐให้ความสำคัญกับนวัตกรรม โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมการตลาด ประยุกต์ใช้ขบวนการ MIT REAP ในการพัฒนาผู้ประกอบการมุ่งเน้นนวัตกรรมและการจำหน่าย ใช้เครื่องมือโปรแกรมสร้างผู้ประกอบการในพื้นที่ขับเคลื่อน อาจเป็นเรื่องใหม่ในพื้นที่ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือภาคีเครือข่าย 5 ส่วนประกอบด้วย ภาครัฐ นักวิจัย นักธุรกิจรายใหญ่ นักธุรกิจรายย่อย และแหล่งเงิน ร่วมขับเคลื่อน สร้างความตระหนักรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างผู้ประกอบการ” หัวหน้าโครงการกล่าว
หัวหน้าโครงการเล่าให้ฟังว่าเริ่มทำเมื่อตุลาคม 64 ม.1 ม.6 ต.บานา อ.เมือง และม1ต.ตะบิ้งอ.สายบุรี จ.ปัตตานี เราพบว่าตะบิ้ง ชาวบ้านรวมตัวกันดี ชุมชนพร้อม มีใจ มีทรัพยากรในการที่จะพัฒนา เขาอยากทำแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนบานา บ้านจือโระมีพื้นที่เกษตรกรรมค่อนข้างมาก ส่วนสุไหงปาแนจะทำการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีท่าเรือฮอลันดาเดิม ที่มาจากเยเมน มีกุโบร์ของเชค ชาวบ้านมีฝีมือในการตัดเย็บ จะขับเคลื่อนงานผ้าให้มีคุณภาพที่ตลาดต้องการ ตลาดเสื้อผ้ามุสลิมะฮฺมีทั่วโลก เราจะทำยังไงให้งานของเรามีคุณภาพ มีการตัดเย็บที่ดี ให้มุสลิมะฮ์ผลิตงานที่บ้านมีคุณภาพเทียบเท่ายูนิโคล่ได้ ถ้าเราทำได้คือความตั้งใจของเรา
“จะพยายามเอาระบบดิจิตอลเข้าไปช่วยคือ การเก็บข้อมูลในการวิเคราะห์ทรัพยากร 5 ด้าน ในพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่จริง ดูว่าตลาดภายนอกต้องการอะไร สร้างภาคีเครือข่าย เพราะโมเดลของอามีทีรีสคือการเดินไปด้วยกัน และไปสู่กระบวนการให้ชาวบ้านคิด ปรับเปลี่ยนความคิด หานวัตกรรมใหม่ๆ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ตลาดได้” เธอกล่าว
ข้อดีของ “โครงการวิจัยและพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์เพื่อการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยสู่โมเดลพึ่งตนเองแก้จนจังหวัดปัตตานี” หรือ ECOtive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล เขาให้มาทำ 3 ปีอย่างต่อเนื่อง ปีแรก สร้างความเข้าใจร่วมกัน ให้ปรับเปลี่ยนความคิด ปีที่ 2 ยกระดับผู้ประกอบการ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนให้พัฒนา ปีที่ 3 คือผลิตโปรดักส์ ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางการตลาด และนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การเอาเงินมาละลาย พัฒนาปัตตานีให้เป็นผู้ประกอบการที่พึ่งพาตนเอง”
 
 
 
จินตนา ปิ่นสุภา พาณิชย์จังหวัดปัตตานี กล่าวว่าได้ทำงานกับทุกภาคส่วน พาณิชย์เป็นส่วนปลายทางที่ทำด้านการตลาดเป็นหลัก รวมทั้งผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ
“ตอนนี้ต้องเปลี่ยนแนวคิดดึงการตลาดนำการผลิต ดูเทรนด์การตลาด มองเรื่องสุขอนามัย มองความพร้อมให้มีความยั่งยืน เกษตรกรผลิตได้ ขายเป็น ใช้โซเชี่ยลให้เป็นประโยชน์ จดทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งสินค้าของปัตตานีที่ได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indications: GI) คือ ลูกหยี และส้มโอบูโก ส่วนทุเรียนทรายขาวอยู่ในระหว่างกำลังดำเนินการขอเครื่องหมาย การตลาดจะทำได้สินค้าต้องมีความประณีต เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งได้ทำคลิป กิน เที่ยว@พาณิชย์ปัตตานี เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ให้ภายนอกได้รับรู้เรื่องราวดีๆ ของปัตตานี” พาณิชย์จังหวัดปัตตานีกล่าว
 
 
นิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี กล่าวว่าปัตตานีมีดีมากกว่าที่คิด อยากให้มองว่าปัตตานีคือประเทศหนึ่ง
“มองว่าสินค้านำเข้ามีอะไร มีสินค้าไหนดีที่ส่งออก มองแบบนี้ทำให้ง่ายขึ้นในการทำให้ภาคีเข้มแข็ง ช่วยกันส่งเสริมทุกองคาพยพ เป้าหมายการตลาดในที่อื่น เช่นปัจจุบันการบริโภคข้าวลดงจากการมีอาหารจานด่วน ผักผลไม้เราก็นำข้ามาจากที่อื่น จะสร้างเมืองด้วยดุลการค้าหรือดุลบัญชีเดินสะพัด ภาพรวมในปัตตานียังไม่มีใครทำ คือการรวบรวมศูนย์แล้ววิเคราะห์ ภาคประชาชนคือตัวขับเคลื่อนสำคัญสุดของสังคม ผมต้องการให้สามจังหวัดเป็นป่าทึบ มีอากาศหายใจ มีคนมาเที่ยวมาพัก ทุกคนมีส่วนร่วมในความสะอาด สุขอนามัย ความปลอดภัย” นิอันนุวากล่าว
 
ตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ DEPA บอกว่าหลายภาคส่วนช่วยให้เกิดความยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจดิจิตอล เน้นในเรื่องของสมาร์ทซิตี้ รวมการเข้าถึงของประชาชนในพื้นที่ ชาวบ้านขับเคลื่อนชีวิตได้อย่างมีความสุข ปากท้องอิ่ม เข้าถึงเรื่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ ความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สิน ความปลอดภัย ให้บ้านเมืองเข้มแข็งด้วยนวัตกรรม
ตัวแทนจาก อบต.บานา บอกว่าในพื้นที่มีจุดแข็งด้านท่องเที่ยว 3 จุด มีสะพานไม้บานา ซึ่งเป็นการรวมตัวของชุมชน จึงมีความยั่งยืนและความเป็นเจ้าของ ลานนกกระยาง แหล่งอาหารทะเล การทำนาเกลืออบต.บานาของบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีการประกันราคาเกลือแก่ชาวนาเกลือกก.ละ 6 บาทและทุ่นลอยน้ำ กระจายรายได้สู่ชาวบ้าน มีร้านขายของกว่า 20 ร้าน ส่วนสุไหงปาแนและจือโระ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม อบต.สนับสนุนงบทุกปี พร้อมร่วมมือกับโครงการนี้
ติดตามกันต่อว่า นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล จะสามารถแก้จนให้ชาวบ้านปัตตานีในทิศทาง