Step ผู้ประกอบการในแบบ ecotive
2022-07-12 09:01:38 | 2 years ago
การเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) หลายๆคน มีความใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง มีรายได้เพิ่มขึ้น วันนี้ ecotive จะมาแนะนำการเริ่มต้นเป็น ผู้ประกอบการ ต้องก้าวอย่างไร
สิ่งแรก คือ ตัวคุณคือพื้นฐาน
ไม่ใช่ไอเดียที่เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจ แต่เป็นตัวคุณที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง ทั้งการรับแรงกดดัน การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ การจ้างทีมที่ใช่ที่สุด การควบคุมงานให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของคุณ การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นไปไม่ได้รวมไปถึง ความขยัน ความอดทนอย่างมาก ฯลฯ คุณเท่านั้นที่จะทำให้ทุกสิ่งเป็นรูปเป็นรอยขึ้นมา
ต่อมา คำถามต้องชัด
ในห้วงเวลาของการทำธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแข็งแรงสักแค่ไหน ก็อาจจะมีวันที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้ท้อถอย สิ่งที่จะใช้สู้กลับเมื่อเผชิญกับความรู้สึกนั้นได้คือ การตั้งคำถามที่ชัดเจน ความสงสัย “ทำไม” ต่อสิ่งต่างๆ ของคุณอาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น ความรู้สึกในช่วงเวลาที่ยากลำบาก อาจทำให้คุณตั้งคำถามว่าจะมีอะไรที่ทำให้ใช้ชีวิตง่ายกว่านี้ หรือวันที่เผชิญกับมลพิษ ก็อาจทำให้ตั้งคำถามถึงวิธีการแก้ปัญหา เป็นต้น การตั้งคำถามจะช่วยผลักดันให้คุณอยากทำทุกสิ่งเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่า สิ่งที่คุณคิดถูกต้องและทำได้จริง
ที่สำคัญ คือ ข้อมูลต้องถูกต้อง
ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินธุรกิจไปอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลทางการตลาด ข้อมูลทางการเงินการลงทุน พลังของข้อมูลที่ถูกต้องสามารถพลิกธุรกิจจากศูนย์ให้มีรายได้ในพริบตา ดังนั้นเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำคือ เช็กที่มาของแหล่งข้อมูลนั้นว่ามาจากไหน และข้อมูลนั้นเชื่อถือได้หรือไม่
อย่าลืม!! ตรวจสอบความคิด หรือไอเดียของตนเอง
แม้ความคิดในการทำสินค้าหรือบริการบรรเจิดแค่ไหน แต่ถ้ายังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดก็อาจทำให้ธุรกิจล้มเหลวได้ เพราะฉะนั้นต้องหมั่นตรวจสอบไอเดียที่มีร่วมกับการวิเคราะห์ตลาดเสมอว่าทำได้ในขณะนี้หรือไม่ เพื่อช่วยให้คุณประหยัดทั้งเงินทุนและเวลาที่ลงแรง
ทีมที่ใช่ คือ ส่วนที่สำคัญของการทำงาน
ผู้ประกอบการหลายรายเวลามองหาลูกทีม มักจะมองหาคนที่เก่งกาจมากๆ ต้องจบปริญญาหลายใบ ความสามารถรอบด้าน แต่พวกเขาก็จะมาพร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขอทรัพยากรที่ช่วยในการทำงานมากๆ หรือเรียกเงินเดือนสูงๆ ซึ่งบางทีธุรกิจของเราอาจต้องการเพียงคนที่จะช่วยทำให้งานสำเร็จลุล่วงในแต่ละวันเพื่อให้โปรเจกต์สำเร็จตรงเวลา หรือคนที่จะสามารถช่วยประหยัดทรัพยากรในออฟฟิศ ช่วยจัดการบริหารเงินเดือนในช่วงเวลาที่ยังมีเงินทุนน้อยมากกว่าก็พอแล้ว
พื้นที่ทำงาน อีกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในพื้นที่ปฏิบัติการ
พื้นที่ทำงานที่ลุกนั่งสบาย บรรยากาศดีราวนั่งในร้านกาแฟ ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นอันดับแรกในการเริ่มทำธุรกิจ หากอยากจะทำให้ลูกค้าประทับใจ ก็ต้องทำยังไงให้ลูกค้าเชื่อว่าเขาจะได้รับผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี ราคาที่เหมาะสมให้ได้เสียก่อน ส่วนบรรยากาศในออฟฟิศหรือที่ประกอบการเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญรองลงมา
เมนเทอร์ หรือ พี่เลี้ยง กลไกที่สำคัญที่จะช่วยให้เราประสบผลสำเร็จ
เช่นเดียวกับการแข่งขันประกวดร้องเพลง จะร้องดีได้ก็ต้องมีเมนเทอร์ การทำธุรกิจก็เช่นกัน เมนเทอร์ที่ดี คอยชี้ทิศทางก็เหมือนได้วิตามินบำรุงร่างกาย แต่คุณไม่จำเป็นต้องมีเมนเทอร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็ได้ แต่ควรมีเมนเทอร์ที่เคยทำธุรกิจแบบเดียวกับคุณมา และมีประสบการณ์แบบเดียวกับที่ในอนาคตคุณจะต้องเจอเมื่อทำธุรกิจของตัวเองคนที่จะให้คำแนะนำคุณได้อาจเป็นนักบัญชีที่ให้คำปรึกษาเรื่องการจัดตั้งธุรกิจ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เพื่อให้คำปรึกษาในการวางระบบโปรแกรมบริหารงาน การมีเมนเทอร์หลายๆ คนยังทำให้คุณได้รับความรู้ที่หลากหลายและอาจทำให้ทำงานได้ผลดีเกินคาดด้วย
เงินทุน ปัจจัยที่จะช่วยให้ธุรกิจของเราขับเคลื่อนได้
ผู้ประกอบการอาจสงสัยว่าทำไมเงินทุนถึงมาเป็นตัวเลือกสุดท้าย ทั้งที่การทำธุรกิจต้องใช้เงินทุน คำตอบคือ เพราะคุณยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลในวันแรกของการทำธุรกิจ
หากผู้ประกอบการมีสิ่งต่างๆ ที่ใช้ดำเนินธุรกิจแล้ว จะช่วยให้การหาแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น และทำได้หลายวิธี เช่น การขอยืม การกู้ หรือจากการระดมทุน สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องสามารถสร้างยอดขายได้จริงในตลาด และสามารถสร้างรายได้ได้แม้จะยังไม่เห็นกำไรในตอนนี้ก็ตาม คุณค่อยมาหาวิธีสร้างกำไรเพิ่มทีหลังได้ แต่ในตอนแรกเริ่มทำธุรกิจขอให้โฟกัสที่ช่องทางการหารายได้และกำไรเท่าที่มีเพื่อให้ทุกคนเชื่อว่าแผนธุรกิจเป็นไปได้และทำได้จริง
ท้ายนี้ การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอาจไม่มีอะไรมาเป็นตัวชี้วัดได้ว่าคุณมาถึงเส้นชัยแล้ว เพราะแต่ละคนต่างก็มีเป้าหมายหรือให้นิยามกับความสำเร็จที่ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อคุณมีฝัน มีไอเดียอยากทำสินค้าดีๆ หรือบริการที่คิดว่าสามารถแก้ปัญหาให้คนทั่วไปได้ ก็ขอให้ค่อยๆ เริ่มจากการวางแผน แล้วดำเนินไปตามทีละขั้นตอนในจังหวะของตัวเอง หากเหนื่อยก็พัก แล้วกลับมาเดินต่อ แต่อย่าเพิ่มล้มเลิกกลางคันไปเสียก่อน
อ้างอิงข้อมูล businessalligtor