ชุมชนบาราโหม ได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ศูนย์รวมแหล่งโบราณสถานเก่าแก่อายุร่วม 500 ปี
ความเป็นมา: ประวัติศาสตร์ชุมชน
ชุมชนบาราโหม หรือบ้านปาเระ เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับรัฐปาตานี โดยมีการสันนิษฐานว่าประชากรเดิมที่มาตั้งรกรากในแถบนี้มาจากหมู่เกาะมลายู และตั้งรกรากมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ถิ่นฐานเดิมเป็นหมู่บ้านเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีเดิม เกี่ยวโยงมาจากเมืองลังกาสุกะ ประชาชนเดิมนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โกตาลิฆัย ต่อมีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างนครรัฐพุทธเป็นรัฐอิสลาม มีพญาอินทิราเป็นผู้ก่อตั้งรัฐปาตานีดารุสลาม
พญาอินทิราหรือ “สุลต่านอิสมาอีลชาร์” เป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนแรกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากขณะพระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคพระฉวีแตก หมอหลวงและหมออื่น ๆ ถวายรักษาแล้วไม่หาย ชีคซาอิดครูสอนศาสนาอิสลามแห่งปาไซ ผู้มีความรู้ด้านการรักษาโรค ได้ถวายการรักษาจนอาการพระชวรหายเป็นปกติ จึงทรงเข้ารับศาสนาอิสลามตั้งแต่นั้น จากนั้นได้สถาปนารัฐปาตานีเป็นนครรัฐอิสลามฟาฏอนี ดารุสสาลาม แปลว่า “ปาตานีนครรัฐแห่งสันติ” นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ ในแหลมมลายูและในเอเชียอาคเนย์ ทั่วอาณาจักรของพระองค์ทรงใช้รูปแบบการบริหารการปกครองตามหลักศาสนา อิสลามอย่างเคร่งครัด เมืองปัตตานีมีความเจริญและมีชื่อเสียงทางการค้า เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนาอิลาม ทรงเปิดสัมพันธไมตรี กับมาละกาและสยาม ทําการค้ากับจีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส และหัวเมืองมลายูอื่น ๆ เรือสินค้าของโปรตุเกส มาทําการค้าครั้งแรกกับเมืองปัตตานี ทำให้ชาวปัตตานีได้เรียนรู้เทคโนโลยีจากชาวตะวันนตก โดยเฉพาะการทําปืนใหญ่ส่งผลให้กิจการหล่อปืนใหญ่ของเมืองปัตตานีมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก กระทั่ง ปี พ.ศ. 2073 พญาอินทิราสวรรคต พระศพของพระองค์ถูกนํามาฝังไว้ที่สุสานอัลมัรโฮม ตําบลบาราโหม
บาราโหมมีคลองปาเระไหลผ่านเชื่อมสู่อ่าวปัตตานี จึงเหมาะสมต่อการเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก นับเป็นท่าเรือคู่ค่ากับท่าเรือฮิราโดะของประเทศญี่ปุ่น สมัยราชินีฮิเยาการค้าพาณิชย์รุ่งเรืองจากการเป็นเมืองท่าจนทําให้ปัตตานี เป็นที่รู้จักทั่วโลก มีบริษัทจากอินเดีย ฮอลันดามาตั้งสถานีการค้า ในสมัยนี้การผลิตถ้วยโถโอชามได้แพร่หลายมายังปัตตานี ทำให้ปัจจุบันพื้นชุมชนบาราโหม จังหวัดปัตตานี ปรากฏซากเตาเผาและเศษเรื่องถ้วยกระจัดกระจายอยู่ในชุมชน
ทว่า ภายหลังการล่มสลายของเมืองปัตตานีโดยสยาม ชาวบ้านได้เดินทางอพยพออกจากพื้นที่เกือบทั้งหมด ทําให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบาราโหมในปัจจุบันไม่ค่อยรู้ถึงประวัติศาสตร์ในชุมชนว่าบรรพบุรุษที่เข้ามาตั้งรกรากในตําบลบาราโหม หรือบ้านปาเระ ส่วนใหญ่มีที่มาจากที่ไหนอย่างไร และมีวิถีความเป็นอยู่ในการดํารงชีวิตแบบใด ทำให้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนบาราโหมนั้นไม่ปรากฏที่มาชัดเจนเท่าใดนัก แต่มีการสันนิษฐานว่าแรกเริ่มของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่บาราโหมนั้น มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณริมน้ำ เดิมเป็นท่าเรือที่ใช้ในการค้าขายและการคมนาคมทางน้ำของรัฐปาตานีและนานาประเทศ จึงทําให้ปาตานีเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของชาวตะวันตก เช่น ชาวฮอลันดา โปรตุเกส เป็นต้น เนื่องจากเป็นพื้นที่มีการสัญจรทางน้ำ รวมถึงการขนส่งสินค้า ในอดีตตำบลบาราโหมเคยเป็นพื้นที่เดียวกับตำบลตันหลงลุโละ แต่ภายหลังมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเกิน 200 ครัวเรือน จึงได้แยกตัวออกมาเป็นตำบลบาราโหมเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา หลังจากแยกการปกครองแล้วได้ตั้งชื่อว่า “บ้านปาเระ” แปลว่า “คู” ซึ่งตั้งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ แล้วใช้คูน้ำกั้นเป็นเขตแดนระหว่างตำบลตันหลงลุโละและบาราโหม แต่ชาวบ้านบางส่วนยังถกเถียงกันถึงเรื่องเขตแดนระหว่าง 2 ตําบล ซึ่งพบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมานาน เนื่องจากชาวบ้านบางส่วนยังเข้าใจว่าไม่มีการแบ่งเขตตําบลที่เป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานที่ชัดเจน (พีรยา จินดาม, 2556 อ้างถึงใน การียา แวกุโน และคณะ, 2559: 10)
ปัจจุบันชุมชนบาราโหม ได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ที่ร้อยรัดร่องรอยอดีตกับปัจจุบันได้อย่างลงตัว เป็นศูนย์รวมแหล่งโบราณสถานเก่าแก่ร่วม 500 ปี ในยุคสมัยที่ปัตตานีเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรือง มีชาวต่างชาติ ทั้งอาหรับ เปอร์เซีย ยุโรปเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีโบราณสถาน เช่น สุสานพญาอินทิรา หรือสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ สถานที่ฝังพระศพเจ้าเมืองปัตตานีพระองค์แรกที่นับถือศาสนาอิสลาม และสถาปนาเมืองปัตตานีเป็น “นครปาตานีดารุสลาม” นอกจากนี้ บาราโหมยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศและวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี มีป่าชายเลนที่ดำรงความอุดมสมบูรณ์ระดับประเทศ สามารถเที่ยวชมดูนกทะเลนานาชนิด เรียนรู้วิถีการทำประมงพื้นบ้าน สัมผัสวิถีชีวิตงดงาม และเรียนรู้วัฒนธรรมของคนปัตตานีดั้งเดิม
แผนที่และสภาพแวดล้อมชุมชน
พื้นที่ชุมชนบาราโหมมีลักษณะเป็นพื้นที่ชานเมือง มีชายหาดขนาดเล็ก แต่ไม่ได้เป็นหาดท่องเที่ยว บริเวณชายฝั่งทะเลสามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ดีสภาพพื้นที่โดยรวมเป็นที่ราบลุ่มตามชายฝั่งด้านอ่าวไทยเป็นส่วนใหญ่ เหมาะสําหรับทําอาชีพประมง เลี้ยงปลา และ ทานากุ้ง มีเนื้อที่โดยประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร
สภาพแวดล้อมของพื้นที่เป็นที่ราบ โดยพื้นที่ราบทางทิศเหนือที่ติดทะเล เหมาะเหมาะแก่การทำนาเกลือ เพราะดินในบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นดินเหนียว พื้นที่ราบทางทิศใต้เหมาะแก่การทําการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ส่วนพื้นที่ราบทางทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นสวนมะพร้าว
สถานที่สำคัญ
ภายในชุมชนบาราโหมมีสถานที่สำคัญประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณวัตุ โบราณสถาน ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น มัสยิดบาราโหม สุสานพญาอินทิรา และพระมเหสี 3 พี่น้อง แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาการแกะสลักไม้กระต่ายขูดมะพร้าวโดยคุณตาอาลี ผู้สร้างสรรค์การแกะสลักกระต่ายขูดมะพร้าวจากไม้เนื้ออ่อนด้วยลวดลายมลายูจนเป็นที่โด่งดัง ทำให้มีคนจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น มาดูงานและสนใจรับซื้องานศิลปหัตถกรรมกระต่ายขูดมะพร้าวของคุณตาอาลี นอกจากนี้ชุมชนบาราโหมยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวให้มีลักษณะเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ซึมซับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่น เช่น ท่าเสด็จ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบาราโหม อุโมงค์ป่าโกงกางบาราโหม ที่ได้มีการจัดกิจกรรมพานักท่องเที่ยวล่องเรือชมวิถีชิตชาวประมงเรือเล็ก อุโมงค์ป่าโกงกาง และวัดดวงกับกิจกรรมการหาเศษกระเบื้องเครื่องถ้วยชามโบราณ กิจกรรมการทานอาหารพื้นบ้าน “นาสิอิแดกำปง” เปิบด้วยมือ และกิจกรรมการทำผ้าบาติกด้วยบล็อกไม้ เป็นต้น
ทุนชุมชน
ภูมิปัญญาว่าวบูลัน
ว่าวบูลัน หรือว่าววงเดือน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วาบูแลหรือวาบูลัน” บูลัน แปลว่า ดวงจันทร์ ว่าวบูลันจึงเป็นว่าวที่มีรูปดวงจันทร์เป็นส่วนประกอบอยู่ตรงกลางลำตัว ส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ปีก เขา (คล้ายเขาควาย) และดวงเดือนซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างปีกและเขาและตอนกลางของลำตัว ว่าววงเดือน มี ๒ แบบคือ แบบมีแอก และแบบไม่มีแอก ความเป็นมาของว่าวบางคนบอกว่าว่าวมาจากประเทศมาเลเซีย และบางคนบอกว่ามาจากจังหวัดปัตตานี จึงสรุปไม่ได้ว่าว่าวมาจากที่ไหน ปัจจุบันชาวชุมชนบาราโหมได้นำเอ่าวาวบูลัน ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน มาจัดเป็นกิจกรรมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบาราโหม ซึ่งตําบลบาราโหมขึ้นชื่อเรื่องว่าวเป็นอย่างมาก เพราะเคยแข่งขันชนะในระดับ 3 จังหวัด ทั้งการแข่งด้านทักษะหรือความสวยงาม
กระต่ายขูดมะพร้าว
กระต่ายขูดมะพร้าว ภาษาถิ่นเรียกว่า กอแร เป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นโดยการคิดค้นของชาวบ้านเอง โดยได้แนวคิดมาจากขวดน้ําตราสิงห์ที่ตนพบจึงเกิดเป็น กระต่ายขูดมะพร้าวที่มีทุกขนาดหลายลวดลายในปัจุบัน
รูปภาพ
หมู่ 1 บ้าน สุไหงปาแน ตำบล บานา