เส้นทางเสน่ห์แห่ง ปัตตานี
วันที่ 03/06/2022
เส้นทาง..เสน่ห์แห่ง ปัตตานี
พื้นที่แห่งความสงบสุข ไร้ความวุ่นวายต่างจากเมืองใหญ่ เปี่ยมด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรม ธรรมชาติ อาหารที่น่าค้นหา ร้อยยิ้มของผู้คนระหว่างสองข้างทางจนทำให้เหมือนเวลาหยุดไปชั่วขณะ
ดินแดน ปัตตานี จังหวัดเกือบใต้สุดของไทย เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ความหลากหลายของวัฒนธรรมที่อยู่อย่างกลมเกลียว บางคนตั้งคำถาม “มาที่นี่แล้วจะไปไหน” ไม่แปลกที่หลายคนคิดไม่ออกว่าจะไปที่ไหนดี ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เมื่อได้เข้ามากลับกลายเป็นหลงเสน่ห์แห่งกลิ่นอายความเป็นปัตตานีอย่างบอกไม่ถูก ตลอดช่วงเวลาสั้นๆ กับการผจญภัยที่สนุกและเปี่ยมด้วยความอิ่มใจ
เริ่มวันแรก สะดุดตาในครั้งแรกที่เห็น “ซัมปลีมอ” โฮมสเตย์เล็กที่ตั้งอยู่ในสายบุรีย์ หาดทรายสีขาวเมื่อมองไปเห็นทะเลสีฟ้าครามสุดสายสายตา เป็นสถานที่ๆเงียบสงบซึ่งเป็นสถานที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบริหารโดยคนในชุมชนตำบนปะเสยะวอ ที่ร่วมมือสร้างขึ้น เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงการเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ ชื่นชมวิถีชีวิตของชาวสายบุรี
หลังตะวันลับขอบฟ้าในเวลาค่ำ ที่เต็มไปด้วยดวงดาวบนท้องฟ้าเวลาประมาณสองทุ่ม มีกิจกรรมท้าทาย และผจญภัยรออยู่ ซึ่งออกจากพื้นที่โฮมสเตย์ ประมาณ สองกิโลเมตร ได้เจอพี่คนหนึ่ง พี่ยีหรือแบยีที่เขาเรียกกัน ซึ่งคำว่าแบในภาษาถิ่นมาลายูของไทย คือพี่ชาย และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเสียงเครื่องเรือสตาร์ชขึ้นพร้อมเดินหน้าฝ่าเกลียวคลื่น ออกจากฝั่งไประยะหนึ่งไฟสีเขียวสองข้างเรือกางออก เป็นแสงไฟล่อเพื่อสัตว์ จากนั้นแบยียื่นเชือกเอ็นเส้นยาวมาให้ และเล่าถึงการตกหมึก เป็นการ ขว้างเหยื่อไปปล่อยจมใกล้พื้นแล้วเจิร์ค(กระตุกให้กุ้งลอย)แล้วปล่อยจมให้ถึงพื้นตะกั่วโขกพื้น แล้วทิ้งไว้สัก1-3 วินาที และทำเช่นเดิมซ้ำๆ ปลาหมึกจะกินตอนกุ้งจมถึงพื้นตอนที่อยู่นิ่งๆ จังหวะที่จะเจิร์คครั้งต่อไป จะรู้ว่าติด ให้วัดเบาๆ ให้เงี่ยงฝั่ง เมื่อติดก็หมุนช้าๆ ขึ้นมา แล้วทำเมนูง่ายๆ ซาซิมิ ที่มีเนื้อหอมหวานอร่อย
เช้าวันต่อไปพร้อมแสงอาทิตย์ที่สาดส่องกับการล่องเรืออีกครั้งไปกับแม่น้ำสายบุรี แม่น้ำสายนิ่งๆ มีภูเขาขนาบสองด้าน ลำน้ำคดโค้งมีแนวแก่งหินกลางลำน้ำ ตลิ่งสูงชัน บางแห่งเป็นเวิ้งหาดทรายและในแม่น้ำมีร่องน้ำลึก มีผู้คนที่อาศัยในพื้นที่พร้อมเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรม สองฝั่ง ในเวลาเที่ยงทานข้านกับบรรยากาศริมตลิ่งพร้อมชาวบ้านเป็นความอบอุ่น และเปี่ยมด้วยรอยยิ้มที่มีความสุขของชาวบ้าน เมื่ออิ่มท้องอิ่มใจพร้อมเดินทางต่อ สู่วังพิพิธภัคดี ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองสายบุรี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางด้านต่างๆ ของอำเภอสายบุรีในอดีตได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ สถาปัตยกรรมของวัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าเมืองสายบุรีในอดีตเป็นเมืองท่าค้าขายกับพ่อค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปด้วยเหตุนี้สถาปัตยกรรมของชาวตะวันตก จึงถูกนำมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมของท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืนสวยงาม
และสถานที่สุดท้ายของวัน สุดชิวไปกับการล่องเรือ ณ บางปู ของปัตตานี หรือชายเลนบางปูตลอดเส้นทางของการไปที่ป่าโกงกางนั้น จะได้เห็นทั้ง นกกระยางขาว นกกาน้ำ ที่จะบินโฉบไปมาและเกาะอยู่บนต้นไม้ ในขณะดวงอาทิตย์ตกเต็มดวงกับแสงสีส้มที่สาดส่องเต็มท้องฟ้าในยามเย็นที่อบอุ่น และเหมือนหยุดเวลาที่แสนวิเศษไว้ครู่หนึ่ง
เช้าอันสดใสในวันถัดไป กับพื้นที่บ้านสุไหงปาแน มีมุมมองที่น่าสนใจในการเดินทางครั้งนี้ ในเช้าวันนั้นในระหว่างการเดินทางสองข้างทาง เต็มไปด้วยวิถีชีวิตของคนในชุมชน จนถึงสถานที่หนึ่งเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่เด็กๆ กำลังนั่งเรียนกันอย่างตั้งใจ และดูมีความสุข มีกลุ่มเด็กๆที่ให้การต้อนรับเป็นกันเอง โดยประวัติของโรงเรียน เป็นโรงเรียนที่เริ่มมาจากการก่อตั้งมูลนิธิที่ตั้งขึ้นในปี 2553 ที่เป็นสถานที่รับเลี้ยงดูเด็กกำพร้า และยากจน จนกลายเป็นโรงเรียนชื่อว่า ดารุลบารอกะฮ์ เมื่อปี2548 จนถึงทุกวันนี้โดยมีระดับ อนุบาล ถึง ม.ต้น ในปัจจุบัน ทางมูลนิธิมีการส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มเด็กกำพร้า ในการสร้างอาชีพให้กับเด็กๆที่จะเติบโตต่อไป เมื่อเขาจบการศึกษาสามารถใช้ชีวติของเขาต่อไป เราเดินทางกันต่อในระหว่างทางมีเสียงนกร้องไพเราะทางตอนใต้เรียกกันว่า นกกรงหัวจุก ที่ดูมีเสน่ห์ เมื่อมาถึงมัสยิดกรือเซะ ศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบโกธิคของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง รูปลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน อิฐที่ใช้ก่อมีรูปลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่หากมาปัตตานีห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด จากกรือเซะระยะทางอีกไม่ไกล สู่ตำบลยะหริ่ง ซึ่งมีวังที่มีความสมบูรณ์ และขึ้นชื่อได้ว่าเป็นวังที่สมบูรณ์ที่สุดในปัตตานี ลักษณะรูปทรงของวังเป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ แบบเรือนไทยมุสลิมผสมกับแบบบ้านแถบยุโรป ตัววังเป็นรูปตัวยู (U) ชั้นบนภายในอาคาร จัดเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านข้างของตัวอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นห้องสำหรับพักผ่อนของ เจ้าเมืองและบุตรธิดาข้างละ 4 ห้อง ชั้นล่างเป็นลานโล่งแบบใต้ถุนบ้าน บันไดโค้งแบบยุโรป ช่องแสงประดับด้วยกระจกสีเขียว แดง และน้ำเงิน ช่องระบายอากาศและหน้าจั่วทำด้วยไม้ ฉลุเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ตามแบบศิลปะชวาและศิลปะแบบตะวันตก ทำให้ตัววังสง่างาม และสถานที่สุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้ คือสะพานไม้บานา เป็นชุมชนท่องเที่ยวกิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ สร้าง สะพานไม้ ทอดยาวลงไปสู่ อ่าวปัตตานี สามารถไปเดินเล่นชมบรรยากาศท้องทะเล และป่าชายเลน ยังมีการถีบเรือกระดานเก็บหอย วิธีการหาเลี้ยงชีพของคนในชุมชน ที่ ออกแบบเครื่องมือ ได้เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เป็นเลนได้อย่างดี โดยจะใช้ไม้ประกอบเป็นเหมือนเรือลำเล็กๆ มีช่องตรงกลางไว้ใส่หอยที่หามาได้อีกทั้งสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ทั้งเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำ และได้รับการพื้นฟูรวมใจของชาวบ้านให้สถานที่ ที่เป็นแหล่งดำรงชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป
จากการเดินทางระยะสั้นในครั้งนี้เต็มไปด้วยความทรงจำ รอยยิ้มของผู้คน ความอบอุ่น และกลิ่นอายของวัฒนธรรม ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นเรื่องราวที่หน้าหลงใหล และเต็มไปด้วยความประทับใจ หากทุกคนได้เข้าไปยังดินแดนแห่งนี้จะหลงไหลมันอย่างแน่นอน