ลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง แม่น้ำสายบุรี ”คุณค่า” ทางระบบนิเวศและวัฒนธรรม
วันที่ 17/05/2022
ลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง แม่น้ำสายบุรี ”คุณค่า” ทางระบบนิเวศและวัฒนธรรม
ทีมวิจัย ลงพื้นที่พร้อมกับชาวบ้าน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชน พาสำรวจเส้นทาง นิเวศวัฒนธรรมเทือกเขาสันกาลาคีรี ของแม่น้ำสายบุรี ด้วยเรือหาปลาของชาวบ้านในชุมชน
เริ่มต้น ตั้งแต่ 8 โมงเช้า กับเมนูอาหารพื้นบ้าน รสชาติอร่อย อิ่มท้อง แถมราคาที่ถูกมากๆ อาทิ ข้าวยำ นาซิกาบู ข้าวเหนียวไก่ทอด และเมนูอื่นๆ ที่หาซื้อได้ตามชุมชน หลังจากทานอาหารมื้อเช้า ก่อนลงเรือ ได้มีชาวบ้านในชุมชน นายดนยา สะแลแม หรือ แบยา ประธานเครือข่ายกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี ให้เกียรติมาเป็นไกด์ชุมชน ได้ชวนเราฟังเรื่องเล่าของต้นทางของแม่น้ำสายบุรี และเรื่องเล่าในชุมชนมากมาย ที่มี “คุณค่า” ทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชน รวมถึงแรงบันดาลใจในการรวมกลุ่มเพื่อฟูนฟูและอนุรักษ์ ป่า แม่น้ำ และ ลำคลองในขุมชน นานกว่า30 นาที
ก็ได้เวลาล่องเรือของชาวบ้าน แบยา ได้นำเรานั่งรถกะบะ เพื่อสำรวจเส้นทางของชุมชน ก่อนถึงท่าเรือปาระ ที่แปลว่าตะวันตก ชุมชนปาตาบาระ และ ปาตา ที่แปลว่า ชายหาด ตำบลปะเซยาวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ถึงระหว่างทาง ก็ได้เจอบรรยากาศที่น่าสัมผัสของชุมชน เต็มไปด้วย อาชีพ วิถีทางวัฒนธรรม และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
นายแวอาดีลี เจะปา หรือ แบลี ชาวบ้านที่นำเราไป เล่าให้ฟังว่า แม่น้ำสายบุรีเขตต้นน้ำนั้นไหลผ่านภูมิประเทศที่เป็นแนวทิวเขาสันกาลาคีรี มีภูเขาขนาบทั้งสองด้านครอบคลุมพื้นที่อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ และอำเภอศรีสาคร ในจังหวัดนราธิวาส ลำน้ำมีลักษณะคดโค้งมีแนวแก่งหินกลางลำน้ำ ตลิ่งสูงชัน บางแห่งเป็นเวิ้งหาดทรายและในแม่น้ำมีร่องน้ำลึก ตลอดแนวทิวเขาสันกาลาคีรีเขตภูมิประเทศนี้มีลำน้ำสาขามากมายที่เกิดจากร่องลำธารต่างๆ บนภูเขาลำธารเหล่านี้ล้วนไหลลงสู่อ่าวไทย พื้นที่อำเภอสายบุรี
ซึ่งปัจุบัน “แบลี” ทำงานอาชีพประมงพื้นบ้าน ออกหาปลา สัตว์น้ำในทะเล ตั้งแต่อายุ 15 ปี จนตอนนี้อายุ 58 ปี ได้บอกกับเราว่า สภาพพื้นที่เมื่อก่อนกับปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะสภาพการเป็นอยู่ อดีตแม่น้ำสายบุรี มีปลาอินทรีย์จำนวนเยอะมาก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและธรรมชาติที่เปลี่ยนไปส่งผลให้จำนวนปลามีน้อยลงมีการปรับรูปแบบหันมาเลี้ยงกระชังปลา (ปลากะพงและปลาทับทิม) และการปรับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ก็ส่วนใหญ่ไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น
จากการลงพื้นที่ เส้นทางแม่นำ้สายบุรี ครั้งนี้ พบว่า ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่วัฒนธรรมนี้ส่วนใหญ่ มีอาชีพ ประมง ทำสวนยางพารา สวนไม้ผล ทุเรียน
ในภาษามลายูคำว่า “ไอร์” แปลว่า “สายน้ำ” ในพื้นที่นิเวศวัฒนธรรมนี้มีชื่อพื้นที่ที่มีคำว่า “ไอร์” นำหน้าร่วมร้อยชื่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ที่มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับสายน้ำอีกด้วย
จากการได้มีโอกาสสัมผัสถึงบรรยากาศ ของแม่น้ำ พร้อมสองข้างทางทำให้เห็นถึง “คุณค่า” ของวัฒนธรรมในชุมชนจากผู้คน ภาษา ศาสนา และ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ที่ยังคงเหลืออยู่
บันทึกเส้นทางลงพื้นที่วิจัยแม่นำ้สายบุรี
“คุณค่า” แม่น้ำสายบุรี
บันทึกเรื่องเล่าจากพื้นที่ : ฮาริส มาศชาย